at 4:15 PM Labels: Posted by Nutcharin

หญ้าแฝกเป็นพืชตระกูลหญ้าที่ขึ้นเป็นกอหนาแน่นอยู่ตามธรรมชาติ ทั่วทุกภาคของประเทศจากที่ลุ่มจนถึงที่ดอน สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด เจริญเติบโตโดยการแตกกอ เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ
0.5-1.5 เมตร ใบแคบยาว ประมาณ 75 เซนติเมตรกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ค่อนข้างแข็ง เจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกทางด้านข้างและมีจำนวนรากมากจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี รากจะประสานติดต่อกันหนาแน่นเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ ระบบรากจะแผ่ขยายกว้างเพียง 50 เซนติเมตรโดยรอบกอเท่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง จึงสามารถนำมาปลูกเพื่อใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้นและรักษาหน้าดิน รักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถนำไปปลูกบนพื้นที่สองข้างของทางชลประทาน อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ป่าไม้ ขอบตลิ่ง คอสะพาน ไหล่ถนนเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายได้

หญ้าแฝกช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำได้อย่างไร
1. แถวหญ้าแฝกช่วยลดความเร็วและความรุนแรงของน้ำไหลบ่า ช่วยกักเก็บตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพา
2. ตะกอนที่ทับถมจะพัฒนาเป็นคันดินธรรมชาติ
3. รากหญ้าแฝกช่วยยึดเกาะดิน

การปลูกหญ้าแฝกนอกจากจะช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว ยังมีบทบาทที่สำคัญในการปรับปรุงบำรุงดินทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบและรากของหญ้าแฝกนั้น เมื่อมีการย่อยสลายสามารถปล่อยธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแก่ดิน รากหญ้าแฝกจะช่วยให้ดินร่วนซุย เนื่องจากรากหญ้าแฝกหยั่งลึกลงดินจึงมีการดูดธาตุอาหารจากดินล่างขึ้นมาหมุนเวียน และยังพบจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์หลายชนิดอาศัยอยู่ในบริเวณรากของหญ้าแฝก เมื่อรากหญ้าแฝกตายลงเกิดช่องว่างสำหรับน้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือช่วยให้ปุ๋ยที่ใส่ซึมลงดินได้มากขึ้น


ข้อมูลจาก กลุ่มวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในการจัดการดิน
สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
กรมพัฒนาที่ดิน

0 comments: