at 7:11 PM Labels: Posted by Nutcharin


มะละกอ พืชสมุนไพรสารพัดประโยชน์และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอีกด้วย

ชื่อ : มะละกอ(ภาคกลาง) มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ) หมักหุ่ง (ลาว,นครราชสีมา,เลย) ลอกอ (ภาคใต้) กล้วยลา (ยะลา) แตงต้น (สตูล)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 3-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลออกขาว ลำต้นตรง ไม่มีแก่น แตกกิ่งก้านน้อย มีรอยแผลใบชัดเจน มียางขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบต้นหนาแน่นที่ปลายยอด ใบรูปฝ่ามือ ขนาด 80-120 ซม. ขอบใบเว้าเป็นแฉกลึกถึงแกนก้าน ก้านใบเป็นหลอด กลมกลวงยาว 25-100 ซม. ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวห้อยลง ดอกสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ดอกเพศเมียสีขาว ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกมีขนาดใหญ่ กว่าดอกเพศผู้ ผล รูปกระสวย ผิวเรียบ เปลือกบาง มียางสีขาว ผลสดสีเขียวเข้ม พอสุกเปลี่ยนเป็นสีส้ม รับประทานได้ มีเมล็ดมาก เมล็ดกลม สีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวใส

ส่วนที่ใช้ : ผลสุก ผลดิบ ยางจากผลหรือจากก้านใบ ราก

สรรพคุณ :

ผลสุก - เป็นยากัน หรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย

ยางจากผลดิบ - เป็นยาช่วยย่อย ฆ่าพยาธิ

ราก - ขับปัสสาวะ

มะละกอมีมากมายหลายพันธุ์ แต่มะละกอเป็นพืชที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศของบ้านเรา พันธุ์มะละกอที่นิยมปลูกในบ้านเรามีด้วยกันทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ

1. พันธุ์โกโก้ มีทั้งก้านใบสีน้ำตาลเข้มหรือสีม่วงเข้มหรือสีเขียวอ่อน พวกที่ก้านสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวจะสังเกตเห็นจุดประสีม่วงตามบริเวณลำต้นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในขณะต้นอายุไม่มาก พันธุ์โกโก้ เป็นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลเร็ว ต้นเตี้ย อวบแข็งแรง มีขนาดผลขนาดเล็กถึงปานกลางผลค่อนข้างยาวผิวเกลี้ยงเป็นมันปลายผลใหญ่ หัวผลเรียว เนื้อแน่นและหนาสีแดงหรือสีชมพูเข้มรสหวานอร่อย

2. พันธุ์แขกดำ เป็นพันธุ์ที่ลำต้นอวบแข็งแรง ต้นเตี้ยให้ดอกติดผลเร็ว ก้านใบสีเขียวอ่อน รูปทรงของผลยาวรีสีผลออกสีเขียวแก่หรือสีเขียวเข้ม มีเนื้อหนาแน่น เมล็ดน้อย ผลสุกเนื้อสีแดงเข้มมีรสหวาน

3. พันธุ์สายน้ำผึ้ง ลักษณะต้นเตี้ย ก้านใบยาวกว่าพันธุ์แขกดำ ผลค่อนข้างโตทรงผลป้าน คือด้านขั้วผลเล็กและขยายออกด้านท้ายผล เปลือกผลสีเขียว เมื่อสุกเนื้อออกสีแดงปนส้ม เนื้อหนาเนื้อแน่น มีเมล็ดมากรสหวาน

4. พันธุ์จำปาดะ เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นอวบแข็งแรง ออกดอกติดผลช้ากว่าพันธุ์โกโก้และพันธุ์แขกดำ ใบและก้านใบออกสีเขียวอ่อน ผลมีขนาดยาว ผลดิบมีสีเขียวอ่อนผลสุกเป็นสีเหลือง เนื้อค่อนข้างบางกว่าพันธุ์อื่นและเนื้อไม่ค่อยแน่น


การเตรียมต้นกล้า

มะละกอไม่เหมาะที่จะหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในขั้นแรกมาก เพราะพื้นที่กว้างขวางและต้นกล้าที่งอกใหม่ๆ ต้องการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การเตรียมต้นกล้ามะละกอให้แข็งแรงก่อนแล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงปลูก จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเตรียมต้นกล้ามะละกออาจใช้วิธีต่าง ๆ แต่เทคนิคที่ได้ผลดี ทำให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตพร้อมเพรียงกัน ใช้สำหรับเพาะปริมาณมาก ๆ มีขั้นตอน ดังนี้คือ

1. เตรียมดินผสมที่จะใช้เพาะเมล็ดให้ร่วนโปร่ง โดยผสมดิน 3 ส่วน ปุ๋ย(ยักษ์เขียว)หรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน และ อินทรียวัตถุ(ขุยมะพร้าว) 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน หากใช้ปุ๋ยคอกนั้นควรเป็นปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว และไม่ร้อน ส่วนอินทรียวัตถุอาจใช้เศษหญ้าสับ แกลบหรือถ่านหรือเปลือกถั่วแทนก็ได แล้วแต่จะหาอะไรได้ในท้องถิ่น

2. นำดินที่ผสมแล้วใส่ถุงขนาด 5 x 8 นิ้ว ที่เจาะรูระบายน้ำ เรียบร้อยแล้วประมาณ 4 รู ตามจำนวนหลุมปลูกในพื้นที่ซึ่งเราคำนวณ

3. เพาะเมล็ดมะละกอ ให้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอที่เตรียมไว้แช่ด้วยน้ำอุ่นประมาณ 40 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ 1-2 วัน จนเมล็ดจมอยู่ในน้ำ แล้วแยกเมล็ดเสียที่ลอยน้ำทิ้ง นำเมล็ดพันธุ์ที่จมน้ำมาคลุกด้วยชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดรา ไตรโค-แม็ก อัตรา 200 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 ลิตร แล้วห่อด้วยผ้าสำลีหรือผ้าขาวม้าเปียก คลุมด้วยกระสอบป่าน หรือบ่มไว้ในถาดหรือภาชนะตามสะดวก เปิดกระสอบรดน้ำวันละครั้งให้พอชุ่ม(อย่าให้แฉะหรือน้ำขัง)หลังจากนั้นประมาณ 4-5 วัน(เมล็ดพันธุ์ที่ดีจะงอกเร็ว) รากจะเริ่มแทงออกจากเปลือก ให้คีบเมล็ดที่รากยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มาหยอดลงในถุงชำ โดยให้ฝังลงในดินให้ลึกประมาณครึ่งเซนติเมตร เกลี่ยดินปิด ถุงละ 5 เมล็ด ส่วนเมล็ดที่เหลือซึ่งรากยังไม่งอก ให้ห่มผ้าและรดน้ำเหมือนเดิม เปิดผ้าวันเว้นวัน หรือ ทุกวัน เพื่อคีบเมล็ดมาเพาะตามขั้นตอนด้านบน จนหมด

4. นำถุงชำที่หยอดเมล็ดตามขั้นตอนที่ 3 ไปตั้งในโรงเรือนกลางแจ้งที่เตรียมไว้ ตั้งเรียงไว้กลางแจ้งในบริเวณที่สามารถให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน รดน้ำให้ชุ่มทุกเช้าเย็น หลังปลูก

5. เมื่อต้นมะละกอมีใบจริง 2-3 ใบ ให้เลือกกล้าต้นที่แข็งแรงเอาไว้ถอนต้นที่อ่อนแอออก เหลือเพียง 3 ต้น หลังจากนั้น ให้ใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดรา ไตรโค-แม็ก ฉีดพ่นทุก ๆ 10-14 วัน สลับกับการใช้ชีวภัณฑ์ปองกันกำจัดแมลง เมทา-แม็ก ผสมยาจับใบ ฉีดพ่นทุก ๆ 5 วัน ครั้งแรกเมื่อตนกลาเริ่มงอกและหลังจากนั้น ช่วงระยะนี้ให้เพิ่มความแข็งแรงให้ต้นกล้าทำให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้นโดยให้ผสม ไบโอเฟอร์ทิล(สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง) อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ20 ลิตร ฉีดพ่นหรือผสมน้ำรดทุก ๆ 5-7 วัน จนกว่าจะย้ายกล้าลงแปลงปลูก

6. ย้ายกล้าปลูกหลังต้นมีอายุได้ 30-45 วัน หรือมีใบแท้ประมาณ 6-8 ใบ

การเลือกพื้นที่ปลูก

มะละกอเป็นไม้ผลที่ชอบดินร่วนปนดินทราย ดินเหนียวปนดินร่วน หรือดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุมาก ไม่ชอบน้ำขัง และควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ช่วงระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่เหมาะสมคือ 5.5-7 มะละกอไม่ทนดินเกลือและไม่ทนลม แหล่งปลูกจึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง ถ้าหลีกเลี่ยงในการเลือกพื้นที่ที่มีลมแรงไม่ได้ควรทำแนวไม้กันลมโดยรอบด้วย ระบบไร่ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 3 x 3 เมตร หรือ 2.5 x 3 เมตร หรือ2.5x2.5 เมตรสำหรับระบบร่องน้ำ

การเตรียมแปลงปลูก

1. ไถพื้นที่ปราบวัชพืช 2 ครั้ง ๆ แรกด้วยไถ 3 ผาน หรือ 4 ผาน ครั้งที่ 2 ให้ย่อยดินให้เล็กด้วยผาน 7

2. วัดระยะแปลงปลูกตามความต้องการ ควรปักหลักเล็ก ๆ ห่างจากหลักหลุมปลูกอีก 2 หลัก โดยปักให้ห่างข้างละ 50 เซนติเมตร

3. ขุดหลุมปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมให้ขอบหลุมห่างจากหลักกลางประมาณ 25 ซม. และขุดลึก 50 ซม. เอาดินขึ้นไว้บนปากหลุมอย่าให้โดนหลักเล็กทั้ง 2 ซึ่งจะเป็นหลักบังคับระยะปลูก

4. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ยักษ์เขียว สูตร 2 (แถบเขียว) อัตรา 0.5-1 กิโลกรัมต่อหลุม และคลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดี แล้วใช้จอบกลบดินลงหลุมให้เสมอปากหลุม

การให้ปุ๋ย

ปุ๋ยมะละกอที่เตรียมไว้สำหรับรองก้นหลุมนั้น เพียงพอสำหรับในช่วงแรก แต่หลังจากลงกล้าปลูกประมาณ 21-30 วัน จึงเริ่มให้ปุ๋ยเสริมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มะละกอมีการเจริญเติบโตเต็มที่ มีลำต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยแบ่งใส่ปุ๋ยดังนี้

ทางดิน
1. ระยะต้นเล็ก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ยักษ์เขียว สูตร 2 (แถบเขียว) จะใส่หลังจากปลูกแล้ว 2-3 อาทิตย์ โดยแบ่งใส่ ครั้งละ 1-2 กำมือ(150-300 กรัม) ต่อต้น ทุก ๆ 20-30 วัน จะทำให้มะละกอเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตเร็วและให้ผลผลิตได้นานกว่า

2. เมื่อเริ่มให้ผลผลิต เมื่อมะละกอติดผลแล้วใช้ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 100-150 กรัม(1 กำมือ) ต่อต้น ร่วมกับ ปุ๋ยอินทรีย์ ยักษ์เขียว สูตร 2 (แถบเขียว) ครั้งละประมาณ 0.5-1 กิโลกรัมต่อต้น ทุก ๆ 20-30 วัน จะทำให้ผลผลิตน้ำหนักดีและรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ทางใบ
1. หลังจากลงย้ายปลูก ใช้ไบโอเฟอร์ทิล(สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง) ฉีดพ่นในอัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 7-10 วัน ทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี ใบเขียวทน แข็งแรง ทนต่อโรคและป้องกันแมลง(ช่วยลดปัญหาเรื่องเพลี้ยอ่อนได้) และศัตรูพืชต่าง ๆ เข้าทำลาย

2. เมื่อมะละกอเริ่มให้ผลผลิต(ตั้งแต่เริ่มติดดอกจนถึงเก็บเกี่ยวทุกรุ่น) ใช้ไบโอเฟอร์ทิล(สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง)ฉีดพ่นช่วงตั้งแต่มะละกอเริ่มแทงช่อดอก อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 5 วัน จนติดผล จะทำให้มะละกอติดดอกและผลมาก ขั้วเหนียว ให้ผลผลิตได้ปริมาณมากและมีคุณภาพดี เมื่อติดผลแล้ว ให้สลับใช้ไบโอเฟอร์ทิล(สูตรเร่งขนาดผล) อัตรรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 7-10 วัน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพเนื้อแน่น ผลใหญ่ ได้น้ำหนัก

3. เมื่อมะละกอติดดอกและมีลูกคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงเดียวกัน ให้ใช้ไบโอเฟอร์ทิล(สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง)และ(สูตรเร่งขนาดผล) ฉีดพ่นสลับกัน ทุก ๆ 7-10 วัน อัตราการใช้ตามข้อ 2 จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ต้นไม่โทรม เก็บเกี่ยวได้นานหลายรอบ

การออกดอกติดผล
มะละกอเป็นพืชที่มีดอก 3 ชนิดอยู่คนละต้น คือ

1. ต้นตัวผู้ จะมีดอกตัวผู้ล้วนเป็นจำนวนมากอยู่บนก้านช่อยาวที่แตกแขนง ถ้าพบควรตัดทิ้งเพราะไม่ให้ผล หรือให้ผลได้ก็ไม่สามารถจำหน่ายได้คุ้มค่าเท่าต้นตัวเมีย หรือต้นสมบูรณ์เพศ

2. ต้นตัวเมีย จะมีแต่ดอกเพศเมียเท่านั้น ดอกจะออกจากส่วนมุมด้านใบติดลำต้นเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ รังไข่มีรูปร่างป้อม ให้ผลค่อนข้างกลม ช่องว่างในผลมีมากจึงไม่ค่อยนิยมเช่นกัน

3. ต้นสมบูรณ์เพศ จะมีช่อดอกติดกันเป็นกลุ่ม ต้นสมบูรณ์เพศจะมีดอกสมบูรณ์เพศและดอกตัวผู้อยู่ในช่อดอกเดียวกัน และดอกสมบูรณ์เพศจะมี 3 ชนิดตามตำแหน่งของเกสรตัวผู้ ดอกสมบูรณ์เพศชนิดธรรมดา (Elongata) ทำให้ผลมีรูปร่างทรงกระบอกสวย เป็นที่นิยมของตลาด ผลที่เกิดจากดอกสมบูรณ์เพศที่ดอกตัวผู้ติดอยู่กับรังไข่ (Intermediate) ทำให้ผลบิดเบี้ยว และดอกสมบูรณ์เพศที่ทำให้ผลเป็นพลูลึก (Pantandria) ผลจากดอกสมบูรณ์เพศสองชนิดหลังนี้ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเกษตรกรผู้ปลูก ต้องหมั่นคอยตรวจดูและปลิดออกตั้งแต่ผลยังเล็กๆ นอกจากนั้นแม้ว่ามีดอกสมบูรณ์เพศชนิดธรรมดา แต่ถ้าช่อดอกแตกแขนงและติดผลดก ผลจะเบียดกันมาก ทำให้ผลเล็กได้ จึงขอแนะนำให้เด็ดผลเล็กที่อยู่ที่แขนงข้างออก ให้เอาไว้แต่ผลที่ปลายช่อดอกจึงจะได้ผลใหญ่สม่ำเสมอกันทั้งต้น ถ้าทำทั้งสวนจะทำให้มีขนาดผลเกินมาตรฐาน จะสามารถขายง่ายและป้องกันการโค่นล้มได้อีกด้วย


เทคนิคการสังเกตและตัดแต่งต้น

จากขั้นตอนการเพาะชำนั้น จะเหลือต้นมะละกอ 3 ต้นต่อถุง หรือ ต่อหลุมปลูก เราสามารถเริ่มตัดต้นทิ้งให้เหลือแต่ต้นสมบูรณ์เพศ(กะเทย) ได้โดยให้สังเกตเมื่อมะละกอเริ่มออกดอก ตัดเหลือต้นสมบูรณ์เพศ(กะเทย)ไว้เพียงต้นเดียวจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี และได้ราคา

0 comments: