at 11:01 PM Labels: Posted by Nutcharin

กล้วยเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำอีกทั้งปลูกแล้วดูแล รักษาง่ายให้ผลผลิตเร็ว และเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งตลาดยังมีความคล่องตัวสูงทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก กล้วยจึงเป็น ไม้ผลที่เกษตรกรควรพิจารณาปลูกเป็นการค้าทั้งในลักษณะพืชหลัก หรือแซมพืชอื่น ๆ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

กล้วยเป็นไม้ผลล้มลุกที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศแบบ ร้อนชื้น โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศคงที่ จะทำให้กล้วยเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ช่วงอากาศแห้งแล้งที่ยาวนาน หรือช่วงอากาศ หนาวเย็น 2-3 เดือน มีผลต่อการชะงักการเจริญเติบโตของกล้วยได้ และทำให้ผลผลิตกล้วยต่ำลง ดิน ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วย ควรเป็นดินที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 4.5-7 ที่เหมาะสมที่สุดคือ (pH) = 6 เป็นดินร่วนซุยมีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี ความชื้น พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยระหว่าง 50-100 นิ้ว/ปี จำนวนวันที่ฝนตกควรยาวนาน หากมีฝนตกในช่วงสั้น การปลูกกล้วยจะต้องให้น้ำชบประทานช่วยเพิ่มรักษาความชุ่มชื้น ของดินเพิ่ม ขึ้น แต่ในพื้นที่มีฝนตกชุกควรทำการระบายน้ำให้แก่กล้วย ลม พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ไม่ควรเป็นแหล่งที่มีลมแรงตลอดปี นอกจากจะทำให้ใบกล้วยฉีกขาดแล้ว อาจจะมีผลทำให้กล้วยหักกลางต้น (หักคอ) หรือโค่นล้มได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กล้วยออก เครือแล้ว

พันธุ์กล้วยที่ปลูกเป็นการค้า

1. กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทยสามารถทนทาน สภาพดินฟ้าอากาศได้ดีกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ การดูแลรักษาง่าย การใช้ประโยชน์จากผล ต้น ใบ ดอก มากกว่ากล้วย ชนิดอื่น ๆ ลำต้นสูงปานกลาง เมื่อสุก มีรสชาดหวาน เนื้อแน่น สีเหลืองอ่อน กล้วยน้ำว้าสามารถจำแนกเป็นพันธุ์ต่าง ๆ ดังนี้
1.1 กล้วยน้ำว้าแดง สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีแดง
1.2 กล้วยน้ำว้าขาว สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีเหลือง
1.3 กล้วยน้ำว้าเหลือง สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีเหลือง
1.4 กล้วยน้ำว้าค่อม เป็นกล้วยที่ลำต้นเตี้ยหรือแคระ

2. กล้วยหอมทอง เป็นกล้วยที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง กาบใบชั้นในมีสีเขียวหรือชมพูอ่อน เครือได้รูปทรงมาตรฐาน มีน้ำหนักมาก ผลยาวเรียว ปลายผลคอดเป็นแบบคอขวด เปลือกหนา ผลสุกผิวมีสีเหลืองทอง เนื้อมีรสชาดหอมหวาน โดยเฉลี่ยเครือหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 6 หวี เป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคตายพราย และโรคใบจุด

3. กล้วยหอมเขียว เป็นกล้วยที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายกล้วยหอมทอง แต่กล้วยหอมเขียวกาบใบชั้นในมีสีแดงสด ปลายผลมน ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว เปลือกหนา เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ นอก จากนี้ กล้วยหอมเขียวยังต้านทานโรคตายพรายได้ดี แต่อ่อนแอต่อโรคใบจุด

4. กล้วยหอมค่อม เป็นกล้วยหอมอีกชนิดหนึ่งลำต้นเตี้ย หรือแคระ ผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหอมเขียว เนื้อรสชาดดี จึงมีชื่อว่า กล้วยหอมเขียวเตี้ยอีกด้วย

5. กล้วยไข่ เป็นกล้วยที่มีลำต้นสูงบาง สีใบและก้านใบสีเหลืองอ่อน ไม่มีนวล กาบใบมีสีน้ำตาลหรือสีช็อคโกแลต เครือเล็ก ผลมีขนาดเล็ก เปลือกบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่ สีเหลืองรสหวาน เจริญเติบโตได้ดี ในที่ร่ม ต้านทานโรคตายพราย แต่อ่อนแอต่อโรคใบจุด

6. กล้วยหักมุข เป็นกล้วยที่มีลำต้นขนาดปานกลาง ลำต้นมีสีเขียวนวล ผลโต เป็นเหลี่ยม สีเขียวนวล ปลายผลเรียว ผลเมื่อสุกสีเหลืองนวล เปลือกหนามีรอยแตกลายงาเนื้อฟู สีเหลืองเข้มเหมาะสำหรับนำมาทำกล้วยปิ้ง กล้วยเชื่อม

7. กล้วยเล็บมือนาง เป็นกล้วยที่มีลำต้นค่อนข้างเล็กไม่สูงมากนัก ผลขนาดเล็ก ปลายผลเรียวแหลม ผลสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น รสชาดหอมหวาน ใช้สำหรับรับประทานสุก หรือทำเป็นกล้วยตา เป็นพันธุ์ที่ปลูกเป็น การค้าทางภาคใต้ของประเทศไทย จังหวัดที่ปลูกเป็นการค้ามากคือ จังหวัดชุมพร








ฤดูกาลปลูกกล้วย

การปลูกกล้วยให้ได้ผลดี ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูฝนเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นและออก ปลี จนสามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงปลายฤดูฝนพอดี แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกกล้วยในเขตชลประทานที่มีน้ำเพียงพอ สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา
กล้วยที่กำหนดเวลาปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ได้แก่
1. กล้วยไข่ ควรได้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงสารทไทย ไหว้พระจันทร์ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
2. กล้วยหอม การปลูกกล้วยเป็นการค้าสำหรับตลาดภายในประเทศก็เช่นเดียวกันกับกล้วยไข่ เกษตรกรคาดหวังว่าจะเก็บเกี่ยวกล้วยขายในช่วงสารทไทย ไหว้พระจันทร์ และกินเจ ซึ่งจะทำให้ราคากล้วยสูงกว่าช่วงปกติ แต่สำหรับการผลิตกล้วยหอมเพื่อการส่งออกนั้น ส่วนใหญ่จะทำการผลิตในลักษณะรวมกลุ่มใหญ่ เพื่อผลิตกล้วยส่งให้ตลาดผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตกล้วยหอมทองของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งการผลิตจะต้องมีการวางแผนการผลิตให้สามารถเก็บเกี่ยวตามที่ตลาดส่งออก ต้องการ

การขยายพันธุ์
ในการผลิตกล้วยเป็นการค้านั้น นิยมทำการขยายพันธุ์กล้วยสำหรับการเพาะปลูก 3 วิธี ดังนี้
1. การขยายพันธุ์จากหน่อ หน่อที่เกิดจากต้นแม่ที่ได้ทำการปลูกกล้วยต้นแรกไปแล้ว ได้แก่ หน่ออ่อน หน่อใบคาบ หน่อแก่ หน่อใบกล้า จะมีวิธีการดังนี้ เตรียมอุปกรณ์ขุด ได้แก่ เสียมหรือชะแลงหน้ากว้างที่คมสำหรับขุดตัดแยกหน่อจากต้นแม่ และขณะเดียวกันก็สามารถใช้งัดหน่อที่ตัดแยกจากต้นแม่แล้วนำหน่อมาตัดรากออก ด้วยมีดโต้ แล้วกลบดินไว้ตามเดิม
2. การขยายพันธุ์ด้วยเหง้า วิธีการนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยนัก เพราะเป็นขบวนการขยายพันธุ์ที่ค่อนข้างยุ่งยากเสียเวลานานในการเลี้ยงกล้า ที่เกิดใหม่ มีวิธีการดังนี้ ขุดเหง้ากล้วยที่ตัดเครือใบแล้วนำ มาผ่าใบลงตามยาวเป็น 2 หรือมากกว่า 2 แล้วแต่ขนาดและความสมบูรณ์ของเหง้า และนำไปชำในวัสดุเพาะชำ จนได้ต้นกล้าขนาดพร้อมที่จะปลูกได้ จึงทำการย้ายปลูกได้ต่อไป
3. การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งในการผลิตกล้วยในหลาย ๆ ประเทศ นิยมใช้วิธีนี้มาก เพราะในการผลิตกล้วยเพื่อส่งตลาดในครั้งละมาก ๆ จะต้องมีการวางแผนการผลิตให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีส่งตลาด ในเวลาเดียวกันเป็น ช่วง ๆ ไป เหมาะสำหรับการผลิตกล้วยเป็นการค้าแบบแปลงใหญ่ ข้อดีกล้วยที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือ กล้วยจะตกเครือในเวลาเดียวกัน แต่เกษตรกรต้องเสียเวลาในการเพาะปลูกยาวนานกว่าวิธีการ แยกหน่อ


การใส่ปุ๋ย
เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่มีอายุสั้น จึงทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากกล้วยตั้งตัวได้แล้ว เกษตรกรควรรีบใส่ปุ๋ยให้แก่กล้วย เพื่อการเจริญเติบโตทางลำต้น และการตกเครือที่มีคุณภาพ ชนิดปุ๋ยมีดังนี้

1. ปุ๋ยคอก ใส่ขณะเตรียมหลุมปลูกแล้ว อัตรา 5 กิโลกรัม/ต้น และหลังกล้วยเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนออกปลี อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ต้น
2. ปุ๋ยไนโตรเจน ที่นิยมใช้คือ โซเดียมไนเตรทหรือแอมโมเนียมซัลเฟต ใช้วิธีการหว่านลงดินปริมาณ 60 กรัม/ต้น แล้วให้น้ำทันที (การใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตบ่อย และมากเกินไปจะทำให้ดินเป็นกรด และเป็น อันตรายต่อกล้วย)
3. ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ปุ๋ยนี้ควรให้หลังติดผลแล้ว อัตรา 500 กรัม/ต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง
- ครั้งแรกหลังตัดปลีแล้ว
- ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 1 เดือน

การกำจัดวัชพืช
วัชพืชเป็นพืชที่มาแย่งดูดอาหารในดินไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต มีผลทำให้กล้วยมีความเจริญเติบโตช้าลง บางชนิดอาจทำให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่อาศัยของโรคและแมลงบางชนิด เกษตรกรควร มีการกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม และถูกวิธี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. วิธีกล ได้แก่ การถอน ดาย หรือถากด้วยจอบ ควรทำการกำจัดขณะที่วัชพืชมีต้นเล็ก ก่อนที่วัชพืชนั้นจะออกดอก ถ้าเป็นพืชที่มีดอก ต้องเก็บภาชนะที่ใส่เมล็ดวัชพืช ร่วงหล่นไปตามพื้นดิน มิฉะนั้นจะทำให้วัชพืชมี การระบาดและแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น ควรเก็บวัชพืชออกมารวมกันแล้วทำการเผาหรือฝัง หากกองทิ้งไว้เฉย ๆ เมล็ดที่แห้งอาจถูกลมพัดพาไปงอกเป็นต้นใหม่ได้ต่อไป
2. วิธีเขตกรรม โดยการปลูกพืชแซม เลือกพืชที่มีระบบรากตื้น และสามารถใช้ลำต้นเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย เช่น พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ หรือพืชผักชนิดต่าง ๆ นอกจากจะช่วยลดปริมาณวัชพืชในแปลงปลูกกล้วย ยังทำให้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
3. ใช้วิธีคลุมดิน หลังจากมีการตัดแต่งกิ่งใบกล้วยแล้ว เกษตรกรก็นิยมใช้ใบกล้วยช่วยคลุมหน้าดินไว้ นอกจากจะช่วยให้ลดปริมาณวัชพืชลงได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดินอีกด้วย


การตัดแต่งหน่อ
หลังจากปลูกกล้วยไปแล้วประมาณ 5-6 เดือน กล้วยจะเจริญเติบโตมากขึ้น ในช่วงนี้จะมีหน่อกล้วยเจริญขึ้นมาพร้อมกับต้นแม่ จำนวน 4-5 หน่อ หรือมากกว่านั้น หน่อขนาดใหญ่เป็นหน่อตาม อยู่ตรงข้ามต้นแม่ จะ แย่งอาหารจากต้นแม่ ทำให้เครือกล้วยที่ออกมาจากต้นแม่มีขนาดเล็ก เกษตรกรที่มีการดูแลสม่ำเสมอ ควรขุดแยกออกตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กอยู่ หากหน่อดังกล่าวมีขนาดใหญ่มากแล้ว จะไม่สามารถขุดออกได้ ทำลาย โดยใช้น้ำมันก๊าดหยอดลงที่ยอดประมาณ 1/2 ช้อนชา ส่วนหน่ออื่น ๆ เก็บไว้ได้ 1-2 หน่อ หากมีมากกว่านี้ควรขุดออกบ้าง แต่ไม่ควรขุดหน่อในช่วงกล้วยออกเครือ เพราะอาจทำให้กล้วย ผลลีบเล็ก เครือเล็กหรือสั้นลงได้ เกษตรกรควรใช้มีดปาดหน่อ ที่เกิดช่วงตกเครือให้สั้นลงได้ จะช่วยลดการแย่งอาหารจากต้นแม่ได้อีก ทั้งยังสามารถชะลอการเจริญเติบโตของหน่อ และสามารถขุดหน่อมาใช้ปลูกต่อไป หลังจากที่ทำการตัดเครือกล้วยแล้ว

การออกปลี
เมื่อปลูกกล้วยไปประมาณ 6-8 เดือน กล้วยจะมีลำต้นขนาดใหญ่พร้อมที่จะออกปลี โดยกล้วยจะแตกใบยอดสุดท้าย ซึ่งมีขนาดสั้นและเล็กมาก ชูก้านใบขึ้นชี้ท้องฟ้า ซึ่งเรียกว่า "ใบธง" หลังจากนั้นกล้วยจะแทงปลี กล้วยสีแดงออกให้เห็นชัด และกาบปลีจะบานต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผลกล้วยที่อยู่บนหวีเริ่มสั้นและเล็กลง อีกทั้งขนาดแต่ละผลไม่สม่ำเสมอกัน ซึ่งเรียกว่า "หวีตีนเต่า" ส่วนหวีที่ถัดจากหวีตีนเต่าลงมาก็จะมีขนาดเล็ก มากเท่ากับก้านดอกในกาบปลีที่ กำลังบานอยู่ ถ้าปล่อยให้หัวปลีบานต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นเพียงก้านดอกกล้วยเล็ก ๆ เรียงกัน คล้ายหวีกล้วยขนาดจิ๋ว การบานของหัวปลีจะทำให้การพัฒนาขนาดของผลกล้วยช้าลง ส่งผล ให้ผลกล้วยมีขนาดเล็ก ๆ ไม่โตเท่าที่ควร


การตัดปลี
หลังจากกล้วยออกปลีมาแล้วระยะหนึ่ง ก็จะเห็นผลกล้วยเล็กจำนวนมาก เป็นหวี ๆ อย่างชัดเจน โดยทุกหวีจะมีผลกล้วยขนาดเท่า ๆ กัน ยกเว้นหวีตีนเต่า และหวีต่อไปก็จะเป็นผลกล้วยขนาดเล็กมาก ๆ ให้ทำการตัด ปลีออกหลังจากปลีบานต่อไปจากหวีตีนเต่าอีก 2 ชั้น เพื่อไว้สำหรับมือจับปลายเครือ ขณะทำการตัดเครือกล้วยในช่วงเก็บเกี่ยว อีกทั้งสะดวกในการหยิบยกและแบกหาม

การห่อผล
หลังจากที่ได้ทำการตัดปลีกล้วยออกไปแล้ว ผลกล้วยก็จะเริ่มพัฒนาและขยายขนาดใหญ่ขึ้น ในการผลิตกล้วยเป็นการค้าที่ต้องการให้ผิวกล้วยสวยงามปราศจากโรคแมลงทำลาย สีผิวนวลขึ้น และน้ำหนักผลเพิ่มมากขึ้น ควรมีการห่อผล

การค้ำกล้วย
ต้นกล้วยหลังจากตกเครือแล้ว จะมีการหักกลางต้น (หักคอ) ได้ง่าย เมื่อกล้วยใกล้จะแก่ ทั้งนี้เพราะน้ำหนักผลมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล้วยหอมทอง ซึ่งจะมีการหักล้มได้ง่ายมาก เพื่อป้องกันการเสียหายจาก หักล้ม เกษตรกรควรใช้ไม้ค้ำกล้วยหลังตกเครือแล้ว ด้วยไม้รวกที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วประมาณ 1 เดือน โดยดำเนินการดังนี้
1. นำไม้รวกมาเสี้ยมปลายด้านที่จะใช้ปักลงดินทั้ง 2 อัน แล้วผูกเชือกปลายไม้ทั้งสองอันนี้ โดยให้เหลือส่วนปลายไม้ด้านบนอันละ 30 เซนติเมตร เพื่อทำหน้าที่รับน้ำหนักต้นกล้วย จากนั้นให้ถ่างไม้ทั้งสองไขว้กันเป็น ลักษณะคีม แล้วนำไปค้ำต้นกล้วยบริเวณที่ต่ำลงมาจากตำแหน่งเครือกล้วย ประมาณ 30-50 เซนติเมตร

โรคและแมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ

โรคกล้วย
1. โรคตายพราย เกิดจากเชื้อรา มักจะเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน ต่อมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง และขยายออกไปอย่างรวดเร็วจน เหลืองทั่วใบ ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้หรือตายนึ่งและบิดเป็นคลื่น ใบกล้วยจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ ใบยอดจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก ต่อมาก็ตายไปเช่นกัน กล้วยที่ตกเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่ สม่ำเสมอ หรือแก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามจืด บางครั้งพบใบกล้วยหักพับที่โคนใบโดยไม่แสดงอาการใบเหลือง หรือเหลืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะพบว่าเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจมีเส้นใยของเชื้อราให้เห็นบ้าง
การป้องกันและกำจัด
1. โรคนี้เป็นมากกับกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทอง ควรปลูกกล้วยไข่หรือกล้วยหักมุกแทน
2. ในพื้นที่ปลูกอย่าให้มีน้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้กล้วยเจริญได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนแอเป็นโรคง่าย โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จะต้องใช้ปูนขาวปรับสภาพดินให้เป็นกลางเสียก่อน
3. ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาทิ้ง
4. ใส่ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุฟอสเฟตและโปแตสเซี่ยมสูง และไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมาก
5. คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากแหล่งที่ไม่มีโรคนี้หรืออย่างน้อยจากกอที่ไม่เป็นโรค

2. โรคเหี่ยวของกล้วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบอาการเหี่ยวบนใบอ่อน ๆ ของกล้วย และมีอาการหักตรงก้านใบ อาการเหี่ยวจะระบาดอย่างรวดเร็ว หน่อกล้วยที่กำลังจะแตกยอดมีสีดำ ยอดบิดและแคระแกร็นและจะ ตายในที่สุด แสดงอาการคล้ายโรคตายพราย แต่เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง พบบริเวณไส้กลางต้นและจะขยายไปยังกาบ ก้านใบ และไปยังเครือกล้วย ผล หน่อ ตา กล้วยจะเหลืองและตาย ในที่สุด ภายในจะพบเนื้อเยื่อเน่าตายเห็นเป็นช่องว่าง เมื่อตัดกล้วยอ่อนที่เป็นโรคแช่น้ำในน้ำ จะพบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุเป็นน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาผลจะเน่าดำ การป้องกันและกำจัด ใช้หน่อกล้วยที่ไม่มีโรคทำพันธุ์ ระวังไม่ให้เกิดผลกับลำต้นกล้วย แช่หน่อกล้วยที่ถูกตัดแต่งในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนปลูก

3. โรคใบจุดของกล้วย เกิดจากเชื้อหลายชนิด แต่ละชนิดแสดงอาการบนใบแตกต่างกัน ดังนี้
3.1 ลักษณะอาการเป็นขีดสีน้ำตาลแดงสั้น ๆ ขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งกระจายไปทั่วทั้งใบและขยายไปทางกว้าง ทำให้เกิดอาการใบจุด และแผลลามติดต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้ โดยมากเกิดจากริมใบเข้าไป แผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม พบทุกระยะการเจริญเติบโต โดยมากเป็นกับกล้วยน้ำว้า ทำให้จำนวนหวีน้อยลง ขนาดผลเล็กลง การป้องกันและกำจัด ตัดใบกล้วยที่เป็นโรคนำไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ ผสมสารจับใบฉีดพ่น 2-3 ครั้งต่อเดือน หรือใช้สารเคมีแมนโคเซบ หรือเบนโนมิลผสมไวท์ออยย์ฉีดพ่น
3.2 ลักษณะอาการใบจุดรูปไข่สีน้ำตาล มักเกิดกับกล้วยไข่ บนใบจะเห็นแผลมีลักษณะรูปไข่สีน้ำตาล ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อนปนเทาถัดเข้ามามีเส้นวงสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลอีกชั้นหนึ่ง การแผ่ ขยายของแผลจะเป็นไปตามความยาวของเส้นใบ การป้องกันและกำจัด ตัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ หรือแคปแทน
3.3 ลักษณะอาการใบจุดกลมรี ทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ แผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยบริเวณสีเหลือง ตรงกลางแผลมีส่วนสปอร์ของเชื้อราสีดำเกิดเรียงเป็นวงมักเป็นกับกล้วยน้ำว้า การป้องกันและกำจัด ให้ตัดใบกล้วยที่เหี่ยวแห้งคาต้นไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ

4.โรคยอดม้วน เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงพาหะได้แก่ แมลงประเภทปากดูดทุกชนิด ได้แก่ เพลี้ยต่าง ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายติดไป กับหน่อหรือส่วนขยายพันธุ์ต่าง ๆ อาการที่พบคือ ในระยะแรก ๆ จะปรากฎรอยขีดสี เขียว และจุดเล็ก ๆ ตามเส้นใบ และก้านใบ ใบถัด ๆ ไปจะมีขนาดเล็กลง สีเหลือง ใบม้วนที่ปลาย เมื่อโรคนี้ระบาดมากขึ้น ต้นกล้วยจะแคระแกร็น ใบขึ้นรวมกันเป็นกระจุก ดอกและปลีของต้นที่เป็นโรคจะเจริญเติบโต อย่างช้า ๆ เมื่อเกือบจะโผล่จะพองโตขึ้น บางคราวเมื่อโผล่ออกมาที่ยอด ทำให้ยอดปริ เครือเล็ก จนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าต้นกล้วยเป็นโรคทุก ๆ หน่อที่เกิดมาก็จะเป็นโรคด้วย การป้องกันและกำจัด ทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นที่เป็นโรคหรือกอที่สงสัยจะเป็นโรค โดยสังเกตจากอาการดังกล่าวข้างต้น

การเก็บเกี่ยว
ปกติแล้วกล้วยจะแก่โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน หลังจากเริ่มออกดอก การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวความแก่ 80-100 % ทั้งนี้แล้วแต่ความต้องการของตลาด ลักษณะของผลที่นิยมเก็บเกี่ยวนั้น จะมีลักษณะผลกลมและเห็นเหลี่ยมเล็กน้อย ถึงผลกลมไม่มีเหลี่ยมเลย การตัดเครือกล้วยให้ใช้มือที่ถนัดมากที่สุดจับมีด และมืออีกข้างหนึ่งจับที่ปลายเครือ แล้วใช้มีดยาวซึ่งคมตัดก้านเครือ (งวง) เหนือกล้วยหวีแรก ประมาณ 20 เซนติเมตร ในสวนที่เป็นแบบยกร่องจะล้างน้ำไปเลย ช่วย ให้น้ำยางไม่เปื้อนผลกล้วย แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม การผึ่งควรตั้งให้ปลายเครืออยู่ด้านบนโดยวางพิงกันไว้


การจัดการผลกล้วยหลังเก็บเกี่ยว
1. ทำการชำแหละหวีกล้วยเป็นหวี ๆ แล้วบรรจุหีบห่อส่งตลาดปลายทาง เพื่อนำไปบ่มขายในตลาดผู้บริโภคต่อไป ช่วงขณะชำแหละหวีกล้วยต้องระวังน้ำยางกล้วยจะเปื้อนผลกล้วยจะดูไม่สวยงาม อาจชำแหละลงในน้ำแล้ว ผึ่งให้แห้ง หรือเป่าด้วยพัดลม
2. การคัดคุณภาพและการคัดขนาด หลังชำแหละกล้วยเป็นหวี ๆ แล้ว ก็อาจจะพบกล้วยบางหวีหรือบางผลมีตำหนิ หรือถูกโรคแมลงทำลายก็ให้คัดแยกออก ขณะเดียวกันให้ทำการคัดขนาดหวี และผลกล้วยไปในคราว เดียวกันเลย ตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก
3. บรรจุหีบห่อลงในกล่อง หรือเข่งที่บุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบตองสดก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้กล้วยผิวช้ำหรือดำได้ ขณะบรรจุจะมีการนับจำนวนผลไว้แล้ว กรณีจำหน่ายแบบนับผล แต่ถ้าจำหน่ายเป็นกิโลกรัมก็ทำ การชั่งน้ำหนักแต่กล่องหรือเข่ง แล้วเขียนบอกขนาดและน้ำหนักไว้เลยด้วยป้ายกระดาษแข็ง นอกจากบรรจุภาชนะแล้ว ในบางท้องที่อาจใช้วิธีบรรจุบนกระบะรถยนต์บรรทุก หรือตู้รถไฟแบบห้องเย็น โดยการเรียงหวีกล้วยคว่ำลงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ

การบ่มกล้วย
เป็นวิธีที่ทำให้กล้วยที่ตัดมานั้นสุกและเข้าสีสม่ำเสมอกัน สะดวกในการจัดจำหน่าย ในประเทศไทยนิยมบ่มกันได้แก่ กล้วยไข่ และกล้วยหอมทอง โดยเรียงกล้วยในเข่งที่กรุด้วยกระดาษโดยรอบ หรือใส่กล้วยลงใน โอ่งแล้วใส่ถ่านแก๊ซแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ ที่ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยกระดาษ จะทำให้กล้วยสุกภายใน 1-3 วัน นอกจากนี้แล้วยังมีการใช้สารละลายเอทธีลีน เช่น อีเธล (Ethel) ความเข้มข้น 500-1000 ppm พ่นที่ผลกล้วยแล้วหุ้มด้วยถุงพลาสติก 1 วัน แล้วเปิดออกผึ่งไว้ให้อากาศถ่ายเท กล้วยจะสุกภายใน 1-3 วัน สิ่งที่ควรคำนึง ในการบ่มนั้น ภาชนะที่ใช้บ่มต้องสะอาด อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 12-17 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90%

การชะลอการสุก
ในการส่งกล้วยไป จำหน่ายในตลาดปลายทางที่ค่อนข้างไกล หรือตลาดต่างประเทศที่ต้องการกล้วยดิบ ในกล้วยหอมทองมีปัญหา เพราะสุกง่าย แม้ไม่ต้องบ่ม การทำให้กล้วยสุกช้า โดยใช้อุณหภูมิต่ำในการขนส่งก็จะ ช่วยชะลอการสุกได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้รวมถึงการใช้สารละลายโปแตสเซี่ยมเปอร์มังกาเนต (ด่างทับทิม) ใส่ลงไปในกล่องก็สามารถชะลอการสุกได้อีกวิธีหนึ่งด้วย

0 comments: