at
5:31 AM
Labels:
การปลูกข้าวโพด
Posted by
Nutcharin
ข้าวโพด
เป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่างคือ เป็นทั้งอาหารของมนุษย์และสัตว์ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก เพราะนอกจากเพื่อใช้ภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกได้ปีละมากๆ ข้าวโพดที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น ข้าวโพดหัวบุบ ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดคั่ว ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดแป้ง ข้าวโพดอาหารสัตว์ แต่ในการอธิบายเทคนิควิธีการเพาะปลูก จะขอแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ข้าวโพดหวาน
2. ข้าวโพดอาหารสัตว์
3. ข้าวโพดฝักอ่อน
1. ข้าวโพดหวาน
เป็นพันธุ์ที่ชอบดินร่วน หรือชอบดินร่วนเหนียวปนทราย หรือดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบความแห้งแล้งและความชื้นแฉะ ดินที่มีความชื้นธรรมดา ไม่แฉะ ข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ดีมาก มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
1.1 พันธุ์ที่นิยมปลูก เป็นพันธุ์ลูกผสม มีเมล็ดสีเหลือง สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะ 18-20 วัน หลังจากออกไหม
1.2 ฤดูกาลปลูก
- ปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีน้ำเพียงพอ
- ฤดูปลูกที่เหมาะคือ ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม หรือเริ่มปลูกในระยะต้นฤดูฝน คือระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนกรกฎาคม
หลังเก็บเกี่ยวข้าวก็สามารถปลูกในนาได้ จะให้แน่นอน เกษตรกรต้องพยายามสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศด้วยว่า
- ฝนจะเริ่มตกเมื่อไร
- ฝนจะหมดเมื่อไร
จะปลูกในระยะนั้นๆ เพราะข้าวโพดไมชอบความแห้งแล้งหรือมีน้ำมาก ทั้งแห้งและแฉะ จะไม่เหมาะต่อการปลูกข้าวโพด ระยะที่ดีที่จำได้ง่ายๆ คือระยะต้นหรือระยะปลายฤดูฝน
การเตรียมดิน
ปลูกบนพื้นราบ
- ใส่โบกาฉิก่อนไร่ละ 100-200 กิโลกรัมตามสภาพ
- พ่นด้วย EM ขยาย 40-50 ลิตรต่อ 1 ไร่ ผสมน้ำสะอาด 1:500-1,000 ตามสภาพดินแห้งหรือเปียก
ถ้าพื้นดินขาดอินทรียวัตถุ ควรใส่มูลสัตว์หรืออินทรียวัตถุอื่นๆ ด้วย เช่นใบไม้ ซากต้นข้าวโพด ฯลฯ แล้วจึงใส่โบกาฉิและพ่น EM ให้ชื้นโดยทั่วไป แล้วไถดะ หรือไถด้วยผาล 3 และผาล 7 หมักไว้ 7-15 วัน พรวนด้วยผาล 7 อีกครั้ง แล้วยกแปลงปลูกการดำเนินเช่นนี้เพื่อ
- การกำจัดวัชพืช
- เพิ่มปุ๋ยในดิน
- กำจัดเชื้อโรคต่างๆ
การปลูกจะได้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยภายหลัง และการใส่ปุ๋ยโบกาฉิก่อน ทำให้รากยาว ลึก โค่นล้มยาก และหาอาหารได้เก่ง ทนต่อภาวะอากาศแล้งหรือฝนชุก
ถ้าปลูกไม่มาก มีพื้นที่ 2-3 งาน ให้ได้ผลผลิตสูง ทำดังนี้
- หลังการไถ่ครั้งแรก พรวนแล้วชักร่องให้ลึกตามแปลงที่จะปลูก นำอินทรียวัตถุมาใส่ เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ มูลสัตว์ ฯลฯ แล้ว
- ใส่โบกาฉิ เมตรละ 1-2 กำมือ
- รด EM (1:1:500)
- กลบร่องและยกเป็นแปลง หมักไว้ไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนปลูก
ในแปลงนาหรือแปลงที่มีวัชพืชมากๆ หว่านโบกาฉิ พ่น EM แล้วไถพรวน หญ้าฟางคือปุ๋ย ขอให้ได้หมักและย่อยสลายก่อนด้วย EM
หมายเหตุ
หากมีอินทรียวัตถุและมีโบกาฉิมูลสัตว์เพียงพอ ผลผลิตจะสมบูรณ์มากน้อยตามสภาพ
การใช้เทคนิคเกษตรธรรมชาติด้วย EM จะปรับสภาพให้เป็นปกติ ทั้งสภาพดินโรค ดินกรด ดินด่าง หรือดินขาดสารอาหาร
1.3 วิธีการปลูก
ก่อนปลูก นำเมล็ดพันธุ์แช่ EM (1:500-1,000) นาน 10-20 นาทีเพื่อ
- กำจัดเชื้อโรค สารพิษสารเคมี
- เร่งการงอก
ข้าวโพดหวาน ปลูกหลุมละ 1-2 เมล็ด
ข้าวโพดข้าวเหนียว ปลูกหลุมละ 2-3 เมล็ด
1.4 ระยะระหว่างหลุม
- ถ้าปลูกเป็นแถวเดี่ยวระหว่างหลุม ระยะ 25 เซนติเมตร
- ถ้าปลูกแถวคู่ให้เยื้องกัน ระหว่างหลุม 25-30 เซนติเมตร
1.5 การดูแลรักษา
1. ใส่ปุ๋ย พิจารณาตามสภาพดิน หรือดูที่ต้นกล้า
- ดินดี ต้นกล้าสวยแข็งแรง ใส่เมื่ออายุ 40 วัน
- ดินไม่ดี กล้าไม่สมบูรณ์ ใส่ 2 ครั้ง เมื่อกล้าอายุ 20 วัน และ 40 วัน
- พ่น EM เสมอทุกครั้งที่ใส่โบกาฉิ
2. การให้น้ำ
- ยกร่องให้น้ำสูง 3/4 ของร่อง สัปดาห์ละครั้งหรือตามความเหมาะสม
- แปลงราบ รดด้วยการสาดพ่น รด ราด ทุกๆ 7-10 วัน/ครั้ง เมื่อสักเกตเห็นว่าใบข้าวโพดเหี่ยวนั้นแสดงว่าดินแห้ง ควรรีบให้น้ำ (ยกเว้นฝนตก)
1.6 ศัตรูและการป้องกัน
การได้ใส่โบกาฉิ หรือบำรุงดินสม่ำเสมอ หรือถ้าดินดี พืชจะไม่มีโรคและไม่ถูกรบกวนจากศัตรูพืชด้วย
ในระยะปีแรกๆ ควรใช้ EM5 สม่ำเสมอ เดือนละ 2 ครั้ง พ่นให้ทั่วในระยะแดดร่มลมตก
1.7 การเก็บเกี่ยว
ต้องทำทุกระยะ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้คุณภาพ
- เก็บเกี่ยวหลังออกไหมได้ 50% เป็นเวลา 18-20 วัน หรือสังเกตสีของไหม จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม
- ข้าวโพดฝักบนสุด ฉีกเปลือก เล็บกดเมล็ดจะมีน้ำนมไหล
- ข้าวโพดหวานควรเก็บทั้งหมดภายใน 5-7 วัน
ถ้าเก็บก่อนหรือหลังระยะที่เหมาะสม 1-2 วัน จะทำให้ได้ข้าวโพดคุณภาพไม่ดี
- ใช้มือหักฝักสดให้ถึงบริเวณด้านฝักที่ติดลำต้น
1.8 การปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- รีบนำผลผลิตไว้ที่ร่ม ไม่ให้ถูกแสงแดด
- ไม่ควรกองสมให้สูงมากเกินไป มีอากาศถ่ายเทดี
- ถ้ามีการขนส่งไกลนานเกิน 3 ชั่วโมง ควรมีที่ระบายอากาศ โดยใช้ท่อพีวีซี ขนาด 2-3 นิ้ว ยาว 3-4 เมตร
การดูแลแปลงหลังเก็บเกี่ยว
ถ้าทำได้จะดีมากคือ
- ไม่เผาต้น ควรตีป่นด้วยเครื่อง
- ใส่โบกาฉิ + EM ขยาย พ่น
- ไถกลบซากไว้ในดิน ถ้าจะปลูกต่อก็ควรหมักไว้ก่อน 7-15 วัน แล้วไถพรวนตามที่กล่าวมาข้างต้น
2. ข้าวโพดอาหารสัตว์
ข้าวโพดอาหารสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการเพิ่มทุกปี แต่มีปัญหาเพิ่มทุกปีคือ
- มีพื้นที่เพาะปลูกลดลง แต่ความต้องการเพิ่ม
- ประสิทธิภาพการผลิตต่ำทั้งฤดูกาล และการปนเปื้อนสารพิษสารเคมี
- มีการระบาดของโรคสูง
- ผลผลิตกระจุกตัวในเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม
- เมล็ดพันธุ์ราคาแพง
2.1 สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- พื้นที่ไม่ลาดเอียงมาก
- ดินร่วน ดินเหนียว ดินร่วนทราย
- การระบายน้ำดี
2.2 การเตรียมดิน
- ใส่โบกาฉิไร่ละ 100-200 กิโลกรัม
- สาดพ่นด้วย EM (1:1:500-1,000) ให้ทั่ว (ใช้ EM ประมาณไร่ละ 30-40 ลิตร เป็น EM ขยาย)
- ไถด้วยผาล 3 ต่อด้วยผาล 7
- หมักดินไว้ไม่น้อยกว่า 7 วัน พรวนอีกครั้ง
ขั้นตอนนี้มีประโยชน์มากเพื่อหมักดินให้เกิดปุ๋ย กำจัดวัชพืช และกำจัดเชื้อโรค สารพิษสารเคมีปรับสภาพความเป็นกรด ด่าง ให้เป็นกลาง
- ยกร่องปลูกได้ หรือจะปลูกโดยไม่มีร่องก็ดำเนินการได้
2.3 ฤดูกาลปลูก
- ต้นฤดูฝนเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม
- ปลายฤดูฝนเดือนกรกฏาคม - เดือนสิงหาคม
2.4 วิธีปลูก
- ระหว่างแถว 75 เซนติเมตร
- ระหว่างต้น 25 เซนติเมตร
- ใส่หลุมละ 1-2 เมล็ด
ก่อนปลูกนำเมล็ดพันธุ์แช่ในน้ำผสม EM 1:500-1,000 เป็นเวลานาน 20-30 นาทีก่อน
2.5 การให้ปุ๋ย
- ใส่โบกาฉิเดือนละครั้ง
- พ่นด้วย EM (1:1:500-1,000) เดือนละครั้ง
- ฮอร์โมนเร่งดอก สารสกัดพืชหมัก (F.P.E.) 20-30 วันต่อครั้ง
2.6 การรักษาป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
- EM5 (สุโตจู) ในการใช้เทคนิคเกษตรธรรมชาติต้องใช้เสมอๆ ทุกๆ 15-20 วัน หากงดเคมีได้ในปีต่อๆ ไปไม่ต้องใช้ เพราะเมื่อดินสะอาดโรคต่างๆ จะไม่มี
2.7 การเก็บเกี่ยว
- เก็บเกี่ยวได้เมื่อข้าวโพดแห้งทั้งแปลงไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อไม่ให้มีความชื้นมากเกินไป
- ไม่ควรเก็บหลังฝนตก
2.8 หลังการเก็บเกี่ยว
- ตากให้แห้ง ก่อนการกระเทาะฝัก
- ตากเมล็ดอีกครั้ง
- นำไปจำหน่าย
ไม่ควรปล่อยแปลงทิ้ง เพราะจะถูกเผาเล่นควรป่นต้นข้าวโพด ใส่โบกาฉิไร่ละ 100 กิโลกรัม พ่นด้วย EM เหมือนการเตรียมแปลง ไถด้วยผาล 3 ต่อด้วยผาล 7
จะปลูกพืชอื่นใดต่อก็ได้หรือไม่ปลูกก็ได้เป็นการรักษาดินให้มีคุณภาพ เมื่อถึงฤดูกาลปลูกก็เริ่มเตรียมแปลงใหม่เหมือนเดิม ผืนดินจะไม่เสื่อม ผลผลิตจะได้เพิ่มทุกปี คุ้มกับการลงทุนลงแรง
3. ข้าวโพดฝักอ่อน
เป็นผักส่งออกที่สำคัญของประเทศในรูปผักสดหรือผักบรรจุกระป๋อง หรือการแช่แข็ง แต่การเพาะปลูก การดูแลต้องมีความรอบรู้ รอบคอบ ละเอียดละออพอควร
การเพาะปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ต้องใช้แรงงานมาก และผลผลิตก็ต้องมาก เกษตรกรจึงควรร่วมกันผลิตเป็นกลุ่ม มีผู้นำเพื่อการดูแล การดำเนินงานทุกขั้นตอนกระทั้งส่งออก
3.1 พันธุ์ที่นิยม สุวรรณ1, สุวรรณ2, สุวรรณ3, รังสิต1,เชียงใหม่ 90
3.2 การปรับปรุงดิน ชอบดินร่วน ไม่ชอบแฉะมีน้ำขัง การปรับปรุงดินหรือเตรียมแปลง ปฎิบัติเหมือนที่กล่าวมาแล้ว คือ
- โบกาฉิ ไร่ละ 100-200 กิโลกรัม ตามสภาพดิน
- EM ไร่ละ 30-40 ลิตร ผสม 1:1:500-1,000
- ไถดะ ไถแปร (ผาล 3 ต่อด้วยผาล 7 )
- หมักไว้ก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน
- ไถแปร ยกร่อง
3.3 ระยะปลูก
- 50x50 หรือ 40x40 เซนติเมตร
- หลุมละ 3 ต้น
3.4 การดูแล
- การให้น้ำต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขาดความชื้นไม่ได้เลย แต่อย่าให้แฉะ ข้าวโพดยังเล็ก ก็ให้ทุกๆ 2-3 วัน ต่อ 1 ครั้ง เมื่อสูงประมาณเข่าให้ 5-7 วัน/ครั้ง
- โบกาฉิ พิจารณาใส่บริเวณที่ข้าวโพดไม่สวย เจริญเติบโตช้า หากข้าวโพดสมบูรณ์แล้วไม่ต้องใส่
- EM ควรพ่นสม่ำเสมอ
- EM5 ก็ควรใช้เป็นประจำ
(ดูรายละเอียดที่ผ่านมาในข้าวโพดหวาน)
3.5 การถอดยอด
ข้าวโพดอายุ 38 วัน หรือมีใบจริงครบ 7 คู่ จะมีช่อดอกตัวผู้โผล่ออกมาจากใบธง (ใบยอด) ให้ดึงช่อดอกออกทิ้ง ต้องระวังต้นให้มั่น การทำเช่นนี้เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กับเกสรตัวเมียที่ปลายฝัก
3.6 การเก็บเกี่ยว
- เก็บเกี่ยวฝักอ่อนได้หลังดึงช่อดอกตัวผู้ออกแล้ว 3-5 วัน สังเกตได้จากไหมที่โผล่พ้นฝักประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- ต้องเก็บทุกวัน เพื่อไม่ให้ฝักแก่เกินไป
การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ต้องขยัน ละเอียด มีความรู้ ความเข้าใจในสภาพต่างๆ ที่พอเหมาะพอดี จึงต้องมีหลายคน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีกับงานนี้คือ ราคาดี ไม่มีตกค้าง และปฎิบัติได้ตลอดปี
ต้องขยัน อดทน แต่มีรายได้ดี เป็นงานไม่หนัก แต่ไม่ค่อยจะว่าง
3.7 การรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว
- หลังเก็บ รีบนำเข้าร่ม หรือโรงเรือนที่ระบายอากาศได้ดี
- ขนส่งควรทำโดยเร็ว
- การปอกเปลือก ต้องชำนาญในการกรีดไม่ให้เกิดแผลที่ฝัก
- ทำความสะอาด
- การส่งออกต้องทำตามเทคนิควิธีอย่างถูกต้อง
3.8 การดูแลแปลงหลังการเก็บเกี่ยว
- ต้นข้าวโพดนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้
- แต่ถ้าไม่ทิ้งหรือไม่นำออกไปไหนเลย จะตีป่นคลุมดิน ใส่โบกาฉิ และ EM เหมือนที่กล่าวมาแล้ว
- ไถกลบด้วยผาล 3 ต่อด้วยผาล 7 หมักไว้ดีกว่าการตากแปลง จะทำให้ดินไม่เสื่อม การเพาะปลูกรุ่นต่อๆ ไปจะลดปุ๋ยลงได้เมื่อดินสมบูรณ์
หมายเหตุ
1. ต้นข้าวโพดเป็นพืชสด หากไม่ได้ใช้โบกาฉิ + EM จะทำให้ดินเป็นกรด การไถกลบจึงต้องใส่โบกาฉิและ EM จึงจะเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน
2. นำไปเป็นอาหารสัตว์ ควรตัดเป็นท่อนสั้นๆ หมักด้วย EM ก่อน สัตว์จะกินทั้งหมด หากไม่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ สัตว์จะกินแต่ใบ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment